
1. การคัดเลือกขนาดและรูปร่างของไข่ฟัก ไข่เป็ดที่ใช้สำหรับฟักควรจะมีขนาดสม่ำเสมอใหญ่เกินไปหรือเล็กเกินไปทำให้การฟักออกไม่ดี ดังนั้นการเลือกไข่เข้าฟักให้สม่ำเสมอสามารถเพิ่มอัตราการฟักออกได้ถึง 5% ขนาดไข่ที่พอเหมาะจะอยู่ระหว่าง 65-75 กรัม ขึ้นอยู่กับพันธุ์เป็ด นอกจากเลือกขนาดไข่แล้วยังจะต้องเลือกรูปร่างของไข่ด้วย ไข่ฟองใดที่มีรูปร่างกลม หรือแหลมเกินไปก็ไม่เอาพร้อมจะต้องเลือกไข่ที่มีเปลือกไม่ขรุขระ ทั้งนี้เพราะว่าเปลือกไข่ทุกฟองจะมีรูเล็กๆ อยู่โดยรอบ เพื่อเป็นที่ระบายอากาศและหายใจของตัวอ่อนก่อนฟักออกเป็นตัว ดังนั้นการฟักออกจะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับคุณภาพของเปลือกไข่ด้วย พร้อมนี้ไข่ฟักทุกฟองจะไม่มีรอยบุบร้าว หรือแตก เพราะนอกจากจะฟักไข่ไม่ออกเลย แล้วยังจะต้องทำให้อากาศภายในตู้เสีย เนื่องจากไข่เน่าอีกทางหนึ่งด้วย
2. การเก็บรักษาไข่ก่อนนำเข้าตู้ฟัก การฟักไข่เป็ดโดยทั่วไปแล้วมักจะรวบรวมไข่ที่เลือกไว้เป็นเวลา 2-7 วัน แล้วจึงนำเข้าตู้ฟัก บางฟาร์มอาจจะเก็บเข้าตู้ฟักทุกๆ 3 วัน หรือทุกๆ 4 วัน ถ้าไข่ฟักมีน้อยไม่มากเกินไปมักจะนำเข้าตู้ฟักทุกๆ 7 วัน ในฟาร์มที่ฟักทุกๆ 3-4 วัน ส่วนใหญ่จะเป็นฟาร์มที่ฟักลูกเป็ดจำหน่ายจำนวนมากๆ เป็นหมื่นๆ หรือแสนๆ ตัวต่อเดือน ดังนั้นเมื่อต้องการเก็บไข่ไว้นานเกินไป 1 วัน เราจำเป็นจะต้องมีวิธีเก็บรักษาไข่ไว้ให้คงสภาพเช่นเดียวกับไข่ที่ออกมาจากก้นแม่เป็ดใหม่ๆ ส่วนเกษตรกรต้องการนำไข่เข้าฟักทุกๆ วัน ก็ไม่จำเป็นจะต้องนำเข้าห้องเก็บไข่ การเก็บไข่รวมไว้เข้าฟักจะต้องเก็บในห้องเก็บไข่ที่สามารถควบคุมความร้อนความชื้นได้ สำหรับอุณหภูมิที่เหมาะสม ก็ขึ้นอยู่กับระยะเวลาของการเก็บไข่ด้วย นอกจากความร้อนและความชื้นแล้ว ยังจำเป็นจะต้องมีการกลับไข่ทุกๆ วันๆ ละ 1 ครั้ง การกลับไข่อาจจะใช้วิธีเอียงถาดไข่ทั้งถาดให้ได้มุม 80 องศา หรือใช้มือลูกไข่เบาๆ ให้เคลื่อนที่จากที่ๆ ไข่วางอยู่ให้เปลี่ยนที่เพียงเล็กน้อยก็พอเพียง การกลับไข่จะช่วยให้ตัวอ่อนภายในไม่ลอยขึ้นมาติดเปลือกไข่ และทำให้ตัวอ่อนแข็งแรง ช่วยเพิ่มเปอร์เซ็นต์การฟักออกได้อีกทางหนึ่ง การกลับไข่ทั้งถาดให้เอียง 80 องศานั้น สามารถทำได้โดยใช้ถาดไข่ของตู้ฟักเองวางเป็นชั้นๆ บนโครงเหล็กหรือโครงไม้ที่สามารถให้ถาดใส่ไข่เอียงได้ 80 องศา โดยปกติแล้วเราจะกลับไข่วันละ 1 ครั้ง ก็พอเพียง ต่อไปนี้เป็นอุณหภูมิและความชื้นภายในห้องเก็บไข่ระยะเวลาต่างๆ กัน
ตารางที่ 2 อุณหภูมิและความชื้นสัมพัทธ์ของห้องเก็บไข่ฟักระยะเวลาต่างๆ กัน
ระยะเวลาเก็บไข่(วัน) | อุณหภูมิพอเหมาะ | ความชื้นที่เหมาะสม | ||
องศา C | องศา F | องศา C | องศา F | |
1-3 | 20 | 68 | 75 | 60 |
4-7 | 13-16 | 55.4-60.8 | 75 | 48-53 |
8-14* | 11-12 | 51.8-53.6 | 80-88 | 46-49 |
14* | 11-12 | 51.8-53.6 | 80-88 | 46-49 |
4. การฟักไข่ระยะแรก 1-24 วัน การฟักไข่เป็ดโดยใช้ตู้ฟักไข่ในปัจจุบัน ส่วนใหญ่แล้วหรือเกือบทั้งหมดจะฟักโดยใช้ตู้ฟักไข่ที่สร้างขึ้นมาใช้สำหรับฟักไข่ไก่ จึงทำให้เป็นเปอร์เซ็นต์การฟักออกของไข่เป็ดต่ำกว่าที่ควรจะเป็น บางครั้งการฟักออกต่ำกว่ามาตรฐานถึง 30% และจะพบปัญหานี้อยู่เป็นประจำ ทั้งนี้เพราะว่าการฟักไข่เป็ดมีความแตกต่างจากการฟักไข่ไก่ สาเหตุใหญ่ๆ เข้าใจว่าไข่เป็ดต้องการอากาศออกซิเจนมากกว่าและในปริมาณที่แน่นอนกว่าไข่ไก่ และไข่เป็ดเปลือกหนากว่าไข่ไก่ ตลอดจนรูเล็กๆ บนเปลือกไข่เป็นจะรูใหญ่กว่าของไข่ไก่ ซึ่งเข้าใจว่าจะเป็นส่วนที่ทำให้เกิดปัญหาสำหรับการฟักโดยใช้ตู้ที่ใช้สำหรับฟักไข่ไก่ การฟักไข่ไก่และไข่เป็ดในตู้เดียวกันจะไม่ค่อยประสบผลสำเร็จเอาเสียเลย
ปัจจัยที่สำคัญที่สุดสำหรับฟักไข่เป็ดคือ การควบคุมอุณหภูมิความชื้น การระบายอากาศเสียออกจากตู้ การหมุนเวียนของอากาศออกซิเจน การกลับไข่ และการทำให้ไข่เย็นเป็นระยะๆ ตลอดการฟักไข่ซึ่งปัจจัยทั้งหมดนี้ถ้าไม่ได้รับการจัดการที่เหมาะสมแล้ว การฟักไข่เป็ดจะไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร
4.1 อุณหภูมิ อุณหภูมิภายในตู้ฟักไข่นับว่าเป็นปัจจัยที่สำคัญยิ่งปัจจัยหนึ่งสำหรับการฟักไข่ การตั้งอุณหภูมิผิดจากที่กำหนดในระยะ 1-24 วันแรกของการฟักไข่นั้น จะไม่สามารถแก้ไขให้การฟักออกดีขึ้นได้ การตั้งอุณหภูมิเกินกว่าที่กำหนด 1 องศา C จะทำให้ลูกเป็ดที่ออกมามักมีท้องมานท้องบวมใหญ่และลูกเป็ดจะอ่อนแอโดยทั่วๆ ไปแล้วการสตั้งอุณหภูมิต่ำกว่าที่กำหนดจะมีผลร้ายน้อยกว่าการตั้งอุณหภูมิสูง อุณหภูมิที่เหมาะสมแบ่งออกเป็นระยะต่างๆ 4 ระยะดังตารางที่ 3
ตารางที่ 3 ความเข้มข้นและระยะเวลาที่ใช้ในการรมควันฆ่าเชื้อโรคบนเปลือกไข่เป็ดที่ใช้สำหรับฟัก
ชนิดที่ใช้รมควัน | ปริมาตรตู้ฟัก/ตู้อบ(กรัม) | ด่างทับทิม(กรัม) | ฟอร์มาลิน(ซีซี) | เวลา |
ไข่ที่เก็บไว้ฟัก | 100 | 60 | 120 | 20 |
ไข่ที่นำเข้าตู้ฟักวันแรก | 100 | 40 | 80 | 20 |
ไข่ที่ฟักไปแล้ว 24 วัน | 100 | 20 | 40 | 30 |
ตู้ฟักไข่ที่ไม่มีไข่ | 100 | 60 | 120 | 30 |
อุปกรณ์ต่างๆ | 100 | 60 | 120 | 30 |
เมื่อไข่อยู่ในตู้ฟักไข่เราก็จะต้องควบคุมความชื้นอย่างใกล้ชิดและเอาใจใส่เป็นพิเศษ ทั้งนี้ เพราะอุณหภูมิของตู้ฟักไข่สูงถึง 99-100 องศา F อุณหภูมิสูงนี้จะทำให้น้ำระเหยออกจากไข่เร็วขึ้น ถ้าความชื้นภายในตู้ต่ำ ดังนั้นจึงต้องปรับความชื้นภายในตู้ให้สูงขึ้นอยู่ระดับ 63%-86% ขึ้นอยู่กับอายุของไข่ฟักระยะต่างๆ ดังตารางที่ 4 การควบคุมความชื้นภายในตู้มีวัตถุประสงค์ที่จะควบคุมขนาดของช่องอากาศภายในให้มีขนาดค่อยๆ กว้างขึ้นจนได้ ขนาด 1 ใน 3 ของไข่เมื่อไข่อายุได้ 27 วัน ถ้าช่องอากาศแคบหรือเล็กเกินไป ตัวอ่อนจะตายและมีน้ำรอบๆ ตัวอ่อนมาก พร้อมนี้ไข่แดงจะไม่ถูกดูดไปใช้จึงเหลืออยู่จำนวนมาก และไข่แดงจะไม่เข้าไปอยู่ในท้องลูกเป็น ถ้าหากช่องว่างอากาศมากเกินไปตัวอ่อนจะแห้งตายและฟักไม่ออกเช่นกัน ดังนั้นการรักษาระดับความชื้นและความร้อนภายในตู้จึงจำเป็นอย่างยิ่ง การเพิ่มความชื้นในทางปฏิบัติเราจะเอาน้ำใส่ถาดขนาดใหญ่และกว้างไว้ใต้ถาดไข่ หรือวางบนพื้นของตู้ฟัก ถ้าหากความชื้นยังไม่พอเพียงเราก็ทำได้โดยการเพิ่มถาดใส่น้ำให้มากขึ้น บางครั้งเราอาจจะต้องวางถาดน้ำถึง 2 ชั้น โดยดัดแปลงถาดใส่ไข่เป็นถาดใส่น้ำ พร้อมกันนี้เราจะต้องปรับช่องอากาศให้เล็กลงอีกด้วย ถึงแม้ว่าความชื้นจะมีผลต่อการฟักออกของไข่เป็ดอย่างยิ่ง แต่ความต้องการของความชื้นภายในตู้ฟักไม่ใช่ว่าจะตรง 100% ตามที่กำหนด แต่ความสูง-ต่ำ ของความชื้นค่อนข้างจะกว้างกว่าอุณหภูมิคือไม่ทำให้มีผลต่อการฟักออกมากนัก ถ้าหากความชื้นผิดไปจากที่กำหนดบ้างเล็กน้อยไม่เหมือนกับความต้องการของอุณหภูมิ ซึ่งผิดไปบ้างเล็กน้อย 0.5-1 องศา F จะมีผลต่อการฟักออกอย่างยิ่ง การที่ความต้องการความชื้นมีช่องห่างระหว่างสูง-ต่ำ ได้พอสมควรนั้น เพราะว่าไข่เป็ดเองมีกลไกที่สามารถควบคุมการระเหยของน้ำได้บางส่วน การควบคุมความชื้นในตู้ฟักจะยิ่งยากมากขึ้นในบางส่วน การควบคุมความชื้นในตู้ฟักจะยิ่งยากมากขึ้นในบางพื้นที่และบางฤดู โดยเฉพาะฤดูที่อากาศมีความร้อนและความชื้นสูง การฟักไข่เป็ดจะต้องเอาใจใส่เป็นพิเศษและคอยตรวจสอบดูว่าช่องอากาศภายในไข่ได้ขนาดความต้องการหรือไม่ ถ้าไม่ได้ก็จำเป็นจะต้องมีการปรับความชื้นและช่องระบายอากาศเสียให้เหมาะสมไปพร้อมๆ กัน
ตารางที่ 4 อุณหภูมิและความชื้นที่เหมาะสมในตู้ฟักไข่เป็ดโป๊ยฉ่าย
ชนิดตู้ฟัก | ระยะที่ | อายุไข่ | อุณหภูมิ | ความชื้น | |
ตุ้มแห้ง | ตุ้มเปียก | ||||
ตู้ฟัก | 1 | 1-4 | 100 องศา F | 88 องศา F | 63 |
ตู้ฟัก | 2 | 5-12 | 99 องศา F | 90 องศา F | 70 |
ตู้ฟัก | 3 | 13-27 | 99 องศา F | 91 องศา F | 75 |
ตู้ฟัก | 4 | 18-30 | 98 องศา F | 94 องศา F | 86 |
4.4 การระบายอากาศ การระบายอากาศและการหมุนเวียนของอากาศภายในตู้มีความสำคัญเช่นเดียวกับอุณหภูมิและความชื้น ทั้งนี้เพราะในระหว่างการฟักไข่นั้นตัวอ่อนและลูกเป็ดภายในไข่ จะต้องมีการหายใจและถ่ายเทอากาศเสียออกมาจากไข่ โดยเฉพาะอากาศคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ที่เกิดจากการหายใจของตัวอ่อน ในระยะต้นๆ ของการฟักไข่ที่ตัวอ่อนอายุไม่มากและตัวไม่โต การหายใจถ่ายเทอากาศเสียยังไม่มากนักยังไม่มีปัญหาเท่าไร แต่ว่าเมื่อตัวอ่อนเติบโตขึ้น การหายใจยิ่งมีปัญหามากขึ้นเป็นทวีคูณ โดยเฉพาะช่วงสุดท้ายชองการฟักอายุ 27-30 วัน ตัวอ่อนใกล้จะเจาะเปลือกไข่ยิ่งจะหายใจถ่ายอากาศคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาก และต้องการอากาศออกซิเจนมากจึงต้องเปิดช่องอากาศออก และช่องอากาศเข้าให้กว้างขึ้น แต่จะต้องรักษาความชื้นให้ได้ใกล้เคียงตามที่ต้องการ นอกจากนี้ยังจะต้องพิจารณาด้วยว่าอากาศภายในโรงฟักไข่ก็จะต้องมีการระบายอากาศได้ดีอีกด้วย เพราะว่าการถ่ายเทอากาศเสียภายในตู้ออกมาข้างนอกเป็นการแลกเปลี่ยนอากาศซึ่งกันและกัน ระหว่างข้างนอกและข้างในตู้ ดังนั้นถ้าอากาศนอกตู้ไม่ดีมีคาร์บอนไดออกไซด์มาก อากาศเสียในตู้ฟักก็เหมือนกับไม่ได้ถูกระบายออก เพราะเป็นการแลกเปลี่ยนระหว่างอากาศเสียกับอากาศเสีย
4.5 การฉีดน้ำบนไข่ฟัก ในการฟักไข่เป็ดนั้นเราพบว่าการฉีดพ่นน้ำลงไปบนไข่ที่มีอายุตั้งแต่ 14-24 วัน ในไข่เป็นพันธุ์ไข่ธรรมดา และ 14-27 วันในไข่เป็ดโป๊ยฉ่ายจะทำให้การฟักออกสูงขึ้นกว่าไม่ได้พ่นน้ำและนอกจากนี้การฉีดน้ำเย็น และสะอาดบนไข่ทุกๆ วันๆ ละ 1 ครั้ง ยังทำให้ตัวอ่อนพายในไม่มีการเจริญเติบโตและแข็งแรงอีกด้วย เหตุผลที่แท้จริงไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่มีการรายงานและค้นคว้าจากนักวิชาการหลายๆ ท่านพบว่าการฉีดน้ำหรือเรียกว่าการให้ไข่ฟักเย็นลงเป็นระยะๆ นั้น ทำให้เนื้อเยื่อที่ห่อหุ้มตัวอ่อนเข้ามาสัมผัสกับผิวของเปลือกไข่มากยิ่งขึ้น จึงทำให้ลูกเป็ดหรือตัวอ่อนเจริญเติบโตดีและแข็งแรง พร้อมทั้งมีแรงสำหรับเจาะเปลือกไข่มากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ดีแม้ว่าการฉีดน้ำเป็นฝอยๆ ลงบนไข่ก็มีข้อเสียอยู่มากเช่นกัน ถ้าหากไม่ปฏิบัติให้ถูกต้อง และคำนึงถึงปัจจัยอื่นๆ การฉีดน้ำทำให้บรรยากาศภายในตู้ฟักไข่เหมาะที่พวกจุลินทรีย์ต่างๆ เจริญเติบโต โดยเฉพาะจุลินทรีย์ที่ปะปนมากับน้ำ เมื่อพ่นลงไปบนเปลือกไข่แล้วจุลินทรีย์นี้จะเจริญเติบโตและเจาะลึกลงไปในไข่ทำลายตัวอ่อนให้ตายฟักไม่ออกได้ ดังนั้นน้ำที่ใช้พ่นจึงต้องเป็นน้ำที่ผสมยาฆ่าเชื้อหรือด่างทับทิมอยู่ในปริมาณที่แนะนำโดยผู้ผลิต ในด้านปฏิบัติการฉีดน้ำจะทำวันละครั้ง ในช่วงเวลาใดก็ได้ที่เห็นว่าความชื้นในอากาศต่ำกว่าเวลาอื่นๆ ก่อนฉีดเราจะต้องเปิดฝาตู้ฟักออกให้กว้างเต็มที่ปล่อยให้พัดลมตู้ฟักทำงานปกติ แต่ปิดสวิชไม่ให้ลวดร้อนทำงาน เปิดทิ้งไว้ประมาณ 1 ชั่วโมง จนไข่ลดอุณหภูมิลงมาเท่ากับอุณหภูมิภายนอกทดสอบได้จากการเอาไข่แตะบนหนังตาของเราจะไม่รู้สึกร้อน ที่จุดนี้เป็นจุดที่จะทำการพ่นน้ำให้เป็นละอองฝอยๆ บนไข่ทุกๆ ถาดจากด้านบนลงมาด้านล่าง ปริมาณน้ำที่ใช้ประมาณ 5-8 ลิตรต่อไข่ 10,000 ฟอง เมื่อฉีดน้ำแล้วจะต้องปล่อยให้ตู้ฟักเดินพัดลมและเปิดประตูไปอีกประมาณ 1 ชั่วโมง จนกว่าน้ำบนเปลือกไข่จะแห้ง และเรานำไข่มาแตะที่หนังตาจะรู้สึกเย็นเลยทีเดียว ที่จุดนี้เราก็ปิดตู้ฟักไข่และเปิดลวดร้อน เดินเครื่องเป็นปกติต่อไปจนถึงวันพรุ่งนี้และวันต่อๆ ไป จนไข่อายุครบ 24 วัน และ 27 วัน สำหรับเป็ดไข่และเป็ดโป๊ยฉ่าย
ในกรณีที่บางฤดูความชื้นในอากาศสูง หรือวันที่มีฝนตกอากาศชื้นเราก็ไม่จำเป็นจะต้องพ่นหรือฉีดน้ำ เป็นแต่เพียงเปิดตู้ปิดสวิชลวดร้อน และเปิดพัดลมให้เดิน เพื่อให้ไข่เย็นวันละ 1-2 ชั่วโมงก็พอ ข้อแนะนำอีกประการหนึ่ง คือไม่ควรที่จะฉีดหรือพ่นน้ำจนให้โชคหรือมากเกินไป จะทำให้ความชื้นสูงเกินกว่าระดับที่ตัวอ่อนและลูกเป็ดต้องการ และจะทำให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดี
5. การฟักไข่ระยะสุดท้าย (28-30 วัน) การฟักไข่เป็ดโป๊ยฉ่ายระยะ 3 วันสุดท้าย จะต้องฟักในตู้อีกตู้หนึ่งต่างหากที่เราเรียกว่า ตู้เกิด ทั้งนี้เพราะว่าการจัดการการฟักไข่ ความต้องการอุณหภูมิ และความชื้นแตกต่างไปจากระยะ 27 วันแรก ระยะนี้ต้องการอุณหภูมิต่ำกว่าระยะแรก 1 องศา F หรือเท่ากับ 98 องศา F ที่ต้องการต่ำเนื่องจากว่าระยะ 3 วันหลังนี้ ตัวอ่อนได้เจริญเติบโตมากและสมบูรณ์พร้อมที่จะเจาะเปลือกไข่ออกมาดูโลกภายนอก ระยะนี้ลูกเป็ดจึงต้องมีการหายใจและเกิดความร้อนขึ้นภายในตัวของมันเองได้ และความชื้นจะยิ่งมากขึ้น เมื่อลูกเป็ดเจาะเปลือกออกมาแล้วยิ่งลูกเป็ดเจาะออกมามากความร้อนยิ่งมากเป็นเงาตามตัว ดังนั้นในบางครั้งความร้อนในตู้เกิดจะสูงเกินกว่าที่ตั้งเอาไว้ทั้งๆ ที่ลวดร้อนหรือฮิ้ทเตอร์ไม่ทำงาน ถ้าหากตู้เกิดไม่สามารถควบคุมความร้อนเกินนี้ได้ จะทำให้ลูกเป็ดฟักออกมีเปอร์เซนต์ลดลงถึง 20% ถ้าหากความร้อนเกิน 1.7 องศา C หรือ 3 องศา F และจะเป็นอันตรายอย่างยิ่ง ถ้าอุณหภูมิสูง 103 องศา F ดังนั้นถ้าตู้เกิดรุ่นใหม่ๆ จะมีอุปกรณ์ที่ช่วยพัดเป่าลมเย็นจากภายในห้องฟักไข่เข้าไปลดความร้อนในตู้เกิดขณะที่อุณหภูมิเกิน พร้อมกันนี้ก็จะเป่าไล่อากาศเสียที่เกิดจากลูกไก่ออกไปจากตู้อีกด้วย ส่วนตู้ที่ไม่มีอุปกรณ์เป่าลมเย็นก็สามารถลดความร้อนในตู้ลงได้ โดยการเปิดช่องอากาศเสียและช่องอากาศดีให้กว้างขึ้นจนได้อุณหภูมิและความชื้นที่ต้องการ
ความชื้นในระยะ 3 วันสุดท้ายของการฟักไข่เป็ดโป๊ยฉ่าย นับว่าสูงมาก คือต้องการความชื้นสัมพัทธ์ 86% หรือเท่ากับอุณหภูมิของตุ้มเปียก 94 องศา F ความชื้นสูงระดับนี้นับว่าเป็นการยากมากเพื่อจะเพิ่มให้สูงได้ นอกจากว่าเราจะต้องเพิ่มถาดใส่น้ำให้มากขึ้น บางทีถาดใส่น้ำอาจจะต้องใส่ถึง 2-3 ชั้น เพื่อให้ความชื้นได้ระดับ และเมื่อความชื้นได้รับแล้วห้ามเปิดฝาตู้ฟักไข่อย่างเด็ดขาด เพราะจะทำให้ความชื้นลดลงอย่างรวดเร็ว จะทำให้ลูกเป็ดที่กำลังจะออกเป็นตัวแห้งติดเปลือกไข่ตายในที่สุด ถึงแม้ว่าจะเป็นเพียงนิดเดียวก็ไม่ควรปฏิบัติถ้าหากไม่จำเป็นจริงๆ ทั้งนี้เพราะว่าเมื่อความชื้นลดลงแล้วกว่าจะให้ตู้ทำงานให้ได้ความชื้นสูงระดับเดิมนั้น จะต้องใช้เวลานานมากและมากกว่าการเพิ่มอุณหภูมิ
การฟักไข่ในระยะสุดท้ายนี้ มีข้อแตกต่างจากระยะแรกอีกประการหนึ่งคือ จะไม่มีการกลับไข่ แต่จะปล่อยให้นอนนิ่งอยู่บนถาดไข่เพื่อให้ลูกเป็ดเจาะเปลือกไข่ออกได้สะดวก ทั้งนี้เพราะว่าในช่วงที่ลูกเป็ดพยายามเจาะเปลือก ลูกเป็ดจะดิ้นทำให้ไข่กลิ้งไปมาเพื่อให้ได้มุมที่สามารถทำให้เปลือกไข่แตกออกมาได้ ฉะนั้นในการใส่ไข่ในถาดก็ไม่ควรให้ไข่แน่นจนเกินไป ควรมีช่องว่างให้ห่างเล็กน้อย
เนื่องจากการฟักไข่ระยะหลัง 3 วันสุดท้าย มีความแตกต่างจากการฟักไข่ในช่วงแรกอย่างสิ้นเชิง ดังนั้นจึงใคร่แนะนำให้มีการแยกตู้ฟักกันคนละตู้ หรืออยู่ในตู้เดียวกันแต่กั้นห้องแยกจากกันจะให้ผลดีที่สุด
ตู้ฟักไข่
ตอบลบ