เครื่องฟักไข่เพียงพอ
สืบเนื่องจากแม่ไก่ไข่ที่นำมาเลี้ยงแบบปล่อยหากินตามธรรมชาติในสวน พากันออกไข่อย่างเดียวแต่ไม่ยอมฟัก ด้วยความอยากรู้ว่าลูกไก่ที่ได้จากพ่อไก่บ้านกับแม่ไก่ไข่นั้นจะมีหน้าตาเป็นเช่นไร จึงลองเป็นแม่ไก่ดูสัก 21 วัน เริ่มจากมองหาสิ่งของที่เหลือใช้หรือยังไม่ได้ใช้ภายในบ้าน รวบรวมมาเป็นเครื่องฟักไข่แบบเพียงพอ


หลักๆเลย การฟักไข่ก็คือการอุ่นไข่ให้มีอุณหูมิ 37 องศาเซลเซียส ไข่จะเริ่มพัฒนาตัวเองไปเป็นลูกเจี๊ยบจนกระทั้งครบ 21 วันจึงออกจากไข่ ตั้งความร้อน ให้อยู่ที่ 37 ความชื้นอยู่ที่ 55% ทั้งความร้อนและชื้น สูงต่ำกว่านี้ได้เล็กน้อย หากใช้ค่าไหนก็ให้คงค่านั้นๆยาวเลยครับ
เตรียมกล่องกระดาษหรือกล่องโฟม เพราะสามารถเก็บรักษาอุณหภูมิใว้ได้ดี เจาะช่องให้อากาศดีเข้า ที่มุมด้านล่างของตัวตู้ เนื่องจากตัวอ่อนที่อยู่ในไข่ต้องการอากาศใว้หายใจ ขนาดประมาณ 3 นิ้ว จะเจาะกลมหรือเหลี่ยมก็ได้ สายไฟต่างๆก็อาศัยเข้าออกช่องนี้เหมือนกัน
เจาะอีกช่อง สำหรับอากาศเสียออก อยู่ตรงข้ามกับช่องอากาศดีและอยู่ช่วงบนของตู้ ตามธรรมชาติอากาศร้อนจะลอยตัวขึ้นสูง แล้วไหลออกทางช่องนี้ ในขณะเดียวกันอากาศดีที่อยู่ช่องต่ำกว่าก็จะไหลเข้ามาแทนที่ ช่องนี้ก็เจาะ 3 นิ้วเท่ากันแต่ไม่ต้องเจาะแบบโบ๋ เหลือให้มีฝาใว้เปิดปิดด้วย สำหรับใว้ช่วยในการเพิ่มลดความชื้นได้เหมือนกัน ตอนที่เริ่มฟัก ตัวอ่อนยังใช้อากาศน้อย เราก็เปิดช่องนี้แค่นิดหน่อยก็พอเพื่อรักษาความชื้นและความร้อนให้คงที่
ช่องสังเกตุการณ์ จะเอาอะไรทำก็ได้ กระจก พสาสติกใส แล้วแต่จะหาได้ เจาะกล่องให้เท่ากับขนาดกระจกที่เรามี แล้วเอากระดาษแข็งมาตัดแปะกาวเป็นคิ้วกันกระจกหลุดออกมา ทั้งข้างนอกและด้านใน
ตะแกรงหรือชั้นสำหรับวางไข่ จะวางไข่ราบแบบวางขนาดกับพื้นก็ได้ แต่เวลากลับไข่ผมกลัวว่าจะไม่ทั่วถึง เท่าที่อ่านในบทความวิชาการเขาบอกให้วางเอียง 45 องศาจะดีกว่า เพื่อสะดวกในการกลับไข่ไม่ต้องกลับทีละฟอง จับเฉพาะถาดหมุนเอาด้านล่างขึ้นบน ด้านบนลงล่างสะดวกดี ไม่มีฟองไหนลืมกลับ ตัวอ่อนที่อยู่ในไข่ ตอนที่ยังไม่โดนความร้อน ไข่ขาวจะเป็นวุ้นห้อหุ้มให้ไข่แดงอยู่ตรงกลางฟองเสมอ ไม่ยอมให้ไข่แดงลอยไปโดนเปลือกไข่ แต่เมื่อไข่เริ่มได้ความความอบอุ่น ไข่ขาวจะค่อยๆเหลวเป็นน้ำ ทำให้ไข่แดงที่อยู่ภายในลอยขึ้น เมื่อลอยไปติดเปลือกไข่ แล้วนิ่งอยู่อย่างนั้นนานๆ ตัวอ่อนที่ถูกไข่แดงเบียดจนติดเปลือกไข่ก็จะตาย เราจึงต้องไปกลับไข่ อย่างน้อยวันละ 3 ครั้ง ส่วนแม่ไก่มันจะขยับไข่วันละ 96 ครั้ง ขยันมากๆเลย
ทีนี้ก็เอาปลั๊กหลอดไฟเสียบเข้ากับคอนโทรล ส่วนคอนโทรลก็เอาไปเสียบไฟบ้านครับ จัดการเอาไข่ที่เก็บใว้ มาเรียงใส่ ต้องเอาด้านป้านของไข่ขึ้นด้านบน ด้านแหลมลงล่าง ควรวางแบบนี้ตั้งแต่ตอนที่เราเก็บรวบรวมมาแล้ว เติมน้ำใส่ถาดใต้ดวงไฟ นำสายที่วัดความร้อนของคอนโทรลสายสีขาววางใว้บนถาดไข่ เทอร์โมมิเตอร์ควรมีอย่างน้อยสักสองตัว เผื่อตัวใดตัวหนึ่งเสียหรือมั่ว จะได้มีอีกตัวคอยตรวจสอบ
เริ่มทำตาราง การกลับไข่ อุณหภูมิ และความชื้นตั้งแต่วันแรกถึงวันที่ 18ของการฟัก ให้ตั้งอุณหภูมิ 37-37.5 ความชื้น 55-60% อย่าพลาดเอาค่าไหนก็เอาค่านั้น ให้นิ่งๆ แล้วปิดฝา เวลาแห่งชีวิตเริ่มนับหนึ่งแล้ว เตือนตัวเองว่าอย่าลืมไปกลับไข่ ชีวิตน้อยๆอยู่ในมือท่านแล้ว ตั้งนาฟิกาปลุกไว้กันลืมด้วยครับ
พอไปครบวันที่ 7 14 และ 18 ของการฟัก ต้องนำไข่มาส่องไฟดู ว่าไข่แต่ละฟองพัฒนาไปถึงไหนแล้ว หากฟองไหนผิดปกติ ให้เอาออกเลย กันเน่า ค่อยๆสังเกตุเอาตามรูป อาทิตย์แรกออกจะงงๆอยู่บ้าง ลองนำไข่ในตู้เย็นมาส่องเปรียบเทียบดูจะเห็นความแตกต่างชัดเจน ไข่ที่ไม่มีเชื้อหรือไม่ได้นำมาฟักมันจะโปร่งแสงกว่า หรือจะเรียกว่าเรืองแสงกว่าไข่ที่มีเชื้อ ถ้าเจอลักษณะแบบ Blood Ring หรือก้อนเลือดที่เป็นวงแหวนในเปลือกไข่ แปลว่าตัวอ่อนภายในตายแล้ว
ครบวันที่ 18 ของการฟัก นับตั้งแต่วันนี้ไปจนกระทั่งลูกไก่ออกจากไข่ ไม่ต้องกลับไข่แล้วครับ ให้ลดอุณหภูมิลง เหลือ 36-36.5 องศาเซลเซียส ส่วนความชื้นให้เพิ่มเป็น 75-80 % และเปิดช่องอากาศเสียให้กว้าง เนื่องจากลูกไก่สามารถสร้างความร้อนได้เองแล้วและต้องการอากาศหายใจมากขึ้น ขณะเดียวกันก็จะหายใจเอาคาบอนไดอ๊อกไซด์ออกมามากขึ้นอีกด้วย สังเกตุความร้อนของอากาศในตู้ ตัวสีแดงกับความร้อนของไข่ตัวสีดำ ควรจะเป็นแบบนี้ แต่ถ้าความร้อนของอากาศในตู้ตัวสีแดงเป็น 36 แล้วความร้อนของไข่ตัวสีดำต่ำกว่า 35 หล่ะก็ แปลว่าไข่ฟองนั้นไปเฝ้าท่านยมแล้วครับ จนกระทั่งวันที่ 21 ของการฟัก ลูกเจี๊ยบจะทยอยเจาะเปลือกไข่ออกมาดูโลก
วันที่ 21 ของการฟัก เวลาตีหนึ่ง ของคืนวันตรุษจีน หูก็แว่วได้ยินเสียงลูกเจี๊ยบร้องเบามาก แต่ผมได้ยิน และหูไม่ฝาดแน่ จัดการปรับเปลี่ยนภายในใหม่เพื่อรอต้อนรับลูกเจี๊ยบน้อยๆ สำรวจดูมีรอยเจาะเล็กๆที่เปลือกไข่ให้เห็นแล้ว นั้งเฝ้าอยู่สองชั่วโมง มันเจาะอยู่แค่นั้น ตีสองแล้วไปนอนต่อดีกว่า ตีสามครึ่ง ได้ยินเสียงลูกเจี๊ยบร้องดังมาก รีบลุกวิ่งไปดู ตัวแรกสีทองกำลังออกจากไข่ นั่งเฝ้าดูอยู่อีกชั่วโมงครึ่งก็เจาะออกมาอีกตัว ส่วนตัวแรกก็ค่อยๆฟูเริ่มน่ารักขึ้นแล้ว ไหลมาเรื่อยๆ จึงไปปลุกลูกๆมาดู นั่งเฝ้ากันหน้าตู้ไม่ยอมไปไหนเลยทั้งพ่อทั้งลูก






อุปกรณ์ที่ใช้ประกอบเป็นเครื่องฟักไข่ในครั้งนี้มี กล่องกระดาษขนาดพอเหมาะ หลอดไฟใช้ขนาด 25 วัตต์ ถาดน้ำจากฝากล่องโฟม ตะแกรงฝาลังผลไม้ แผ่นพลาสติกใส ตัววัดความชื้นจากนาฬิกาที่เสียแล้ว เทอร์โมมิเตอร์ และตัวควบคุมอุณหภูมิแบบดิจิตอล




